จังหวะแซมบ้า (Samba)

จังหวะ แซมบ้า(Samba)

รูปแบบของจังหวะ แซมบ้า
    ความมีชีวิตชีวาและท่วงทำนองที่มีจังหวะจะโคนของแซมบ้า โดยปกติแล้วจะนำมาซึ่งความตื่นเต้น เร้าใจบนฟลอร์ของการแข่งขัน การออกแบบท่าเต้น การมีดุลยภาพร่วมกับการทรงตัวที่หยุดนิ่ง และรูปแบบของการเต้นซิกแซค ที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้า โดยทั่วไปแล้วแซมบ้าเป็นการเต้นรำที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ลักษณะการเคลื่อนไหวควรที่จะสะท้อนถึงลักษณะการเดินพาเหรด เป็นวงกลมในที่ว่าง บางครั้งจะแสดงลีลาอวดผู้ชม โดยการเต้นพักอยู่กับที่
    การเต้นแซมบ้าแบบแข่งขันในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบดั้งเดิมของ "บราซิลเลี่ยนแซมบ้า" ไปเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตนั้น เน้นการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรู้สึกที่ลุ่มหลง คลั่งไคล้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแซมบ้าจะเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบดั้งเดิมไป โดยละทิ้งลักษณะการเต้นแบบพาเหรด และความมีชีวิตชีวาลงไปบ้าง ก็มิได้ทำให้เสียภาพลักษณ์ของแซมบ้าแต่อย่างไร
    สิ่งที่เราต้องการจะเห็นจากคู่แข่งขันก็คือ การใช้ความยืดหยุ่นของร่างกายเป็นอย่างมาก ท่อนแขน จะมีบทบาทสำคัญรองลงมา โดยใช้เพื่อทำให้เกิดความสมดุลย์ในการใช้ร่างกายเต้นเข้ากับจังหวะ นักเต้นแซมบ้าที่ดี ควรตระหนักถึงการใช้น้ำหนัก และจะต้องไม่เพิ่มเติมความหนักหน่วงลงไปในน้ำหนักของการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง
    สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักแข่งขันก็คือ ต้องให้ความสำคัญโดยมุ่งประเด็นไปที่ ลักษณะการผ่อนคลายและการใช้น้ำหนัก , การเน้นเพื่อเพิ่มทัศนะการต่อสู้บนฟลอร์การแข่งขัน เพื่อเชือดเฉือนให้ออกมาเป็นแซมบ้า ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา

ประวัติของจังหวะ แซมบ้า
    ต้นแบบของแซมบ้า มาจากอัฟริกา แต่ได้รับการพัฒนามากที่สุดที่ประเทศบราซิล ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในงานเทศกาลรื่นเริง และตามโรงเรียนสอนจังหวะแซมบ้าในประเทศบราซิล ปี ค.ศ. 1925 จังหวะแซมบ้า เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป ถึงแม้ว่า แซมบ้า จะได้รับการยอมรับเป็นจังหวะหนึ่งที่ใช้ในการแข่งขันก็ตาม แต่การบุกเบิกครั้งสำคัญของจังหวะแซมบ้า ได้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1939 ในงานมหกรรมการแสดงระดับโลกในนครนิวยอร์ค จังหวะแซมบ้าได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงในปี ค.ศ. 1948/1949
    ผู้ที่ได้พัฒนาจังหวะแซมบ้า มากที่สุดคือ Walter Laird และ Lorraine ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอดีตแชมเปี้ยนโลก ของการเต้นรำแบบลาตินอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ แซมบ้า
เอกลักษณ์เฉพาะ                เบิกบาน มีชีวิตชีวา และความพึงพอใจ 
การเคลื่อนไหว                    แบบซิคแซค , เคลื่อนที่แบบเดินขบวน และแบบวงกลม เต้นในที่โล่ง หรืออยู่กับที่ 
ห้องดนตรี                           2/4
ความเร็วต่อนาที                   50 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ                      บนบีท (Beat) ที่ 2 
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน          1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที 
การขึ้นและลง                       ท่าเบ้าส์ (Bounce) ของแซมบ้า 
หลักพลศาสตร์                      ความหนักหน่วง ยืดหยุ่น ฉับพลัน และก็ทันทีทันใด
หลักพลศาสตร์

การสื่อความหมายของจังหวะ แซมบ้า
    แบบฉบับท่าทางการยืดหยุ่นของแซมบ้า (Bounce Action) ก่อให้เกิดความย่นย่อ และการเหยียดตึงของเข่า และข้อเท้า ของขาข้างที่รองรับน้ำหนักอยู่ ในแต่ละครั้งของการยืดขึ้นและหน่วงลง ใช้เวลาครึ่งบีทของดนตรี ระดับของการใช้ความยืดหยุ่นของฟิคเกอร์ (Figures) ต่างไม่เหมือนกันทั้งหมด บ้างก็มีเพียงเล็กน้อย บ้างก็ไม่มีเลย
    การเคลื่อนไหวของแซมบ้า ควรสะท้อนให้เห็นถึงขบวนพาเหรด ที่เคลื่อนเป็นวงกลมในที่โล่ง โดยการแสดงอวดผู้ชมบ้างในบางครั้ง ด้วยการเต้นพักอยู่กับที่ในจุดเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น